วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

5 สิ่งที่ทำให้รถไฟญี่ปุ่นตรงต่อเวลา

รถไฟญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความตรงต่อเวลามาก และระบบรถไฟที่ซับซ้อนที่สุดในโลกเช่นนี้ ทำไมถึงสามารถขับเคลื่อนนำพาคนหลายล้านคนได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และตรงเวลา

มาดู 5 สิ่งที่ทำให้รถไฟญี่ปุ่นตรงต่อเวลา จากการวิเคราะห์ตามความเห็นส่วนตัวของแอดมิน

1. พนักงานขับรถที่มีความชำนาญสูง
คนที่จะคุมเวลาให้รถไฟไปถึงจุดหมายอย่างตรงเวลาได้ดีที่สุดก็คือพนักงานขับรถ (พขร.) นั้นเอง โดยพขร.แต่ละคนจะได้รับการฝึกเป็นอย่างดี แม้รถไฟญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถควบคุมรถได้จากศูนย์ควบคุมรถ แต่การขับเคลื่อนรถไฟยังใช้พขร.ที่มีประสบการณ์สูงอยู่ ไม่เหมือนรถไฟฟ้าในไทยที่ขับเคลื่อนโดยศูนย์ควบคุมขณะที่พขร.ที่นั่งอยู่หน้ารถมีหน้าที่แค่เปิด-ปิดประตูเท่านั้น

พขร.รถไฟญี่ปุ่นแต่ละคนจะรับผิดชอบแค่เส้นทางเดียว ทำให้มีความคุ้นเคยกับเส้นทางเป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถจดจำเวลาที่จะต้องไปถึงแต่ละสถานีได้อย่างแม่นยำ อาชีพพขร.รถไฟจึงเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความรับผิดชอบสูง ที่ต้องพาผู้โดยสารถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย และตรงเวลา แล้วก็ยังเป็นอาชีพที่เด็กญี่ปุ่นใฝ่ฝันเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว

2. การทำงานร่วมกันของบุคลากรรถไฟ


รถไฟขบวนหนึ่งจะมีพนักงานประจำอย่างน้อย 2 คน คือพขร.ที่อยู่ตรงหน้าขบวนรถ ทำหน้าที่ขับรถไฟ กับพนักงานรักษารถ (พรร.) ที่จะอยู่ท้ายขบวน โดยการทำงานที่แยกหน้าที่กันชัดเจนทำให้รถไฟขบวนหนึ่งสามารถทำเวลาได้ตรงตามตารางเดินรถ 
เพราะพขร.ต้องควบคุมเวลาตอนรถไฟวิ่ง ส่วนพรร.จะควบคุมเวลาตอนรถไฟจอดที่สถานี นั้นก็คือเปิด-ปิดประตูนั้นเอง ทำให้พอประตูปิดปุ๊ปรถออกทันที


นอกจากนี้ยังมีพนักงานประจำสถานีที่คอยช่วยเรื่องการให้สัญญาณ และจัดระเบียบผู้โดยสาร เช่นในชั่งโมงเร่งด่วนที่ผู้โดยสารบนชานชาลาหนาแน่น จะมีพนักงานสถานียืนประจำประตูทางออกรถไฟทุกบาน คอยให้ผู้โดยสารข้างในออกก่อน แล้วยัดผู้โดยสารข้างนอกเข้าไป ส่วนพนักงานทำความสะอาดก็ไม่ธรรมดา สามารถทำความสะอาดรถไฟทั้งขบวนภายในไม่กี่นาที รถไฟก็สามารถให้บริการได้รวดเร็ว


3. การบำรุงรักษาที่ต่อเนื่อง
เทคโนโลยีด้านรถไฟที่ทันสมัยทำให้ญี่ปุ่นผลิตรถไฟใช้เองมาตลอด เรื่องของอะไหล่ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุงจึงไม่ขาดแคลน พอรถไฟเริ่มเก่า ญี่ปุ่นก็พร้อมนำรถไฟรุ่นใหม่ที่ดีกว่ามาให้บริการได้

แม้ญี่ปุ่นจะมีรางรถไฟที่ยาวมาก แต่การบำรุงรักษารางก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะรถไฟญี่ปุ่นส่วนมากจะปิดการให้บริการช่วงเช้ามืด ทำให้มีเวลาสำหรับฝ่ายซ่อมบำรุงที่จะทำงานซ่อมแซม บำรุงรักษารางในเส้นทางที่รถไฟวิ่งหนาแน่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

4. ทางรถไฟที่แยกกัน

ในสายที่ผู้โดยสารหนาแน่น เช่น สาย JR Yamanote จะมีรางคู่เป็นของตัวเอง ไม่มีรถไฟสายอื่นมาใช้ร่วม ทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นที่จะมีระบบแยกจากระบบรถไฟอื่นเลย

ถ้าเป็นในเขตเมือง ทางรถไฟแทบจะไม่ตัดกับถนนเลย ส่วนในเขตต่างจังหวัด ทางตัดถนนรวมถึงทางคนเดินจะมีเครื่องกั้นอัตโนมัตทุกจุด ทำให้ไม่มีปัญหารถไฟชะลอให้รถผ่าน

ต่างกับรถไฟไทยที่มีทางเดียว แถมมีทางลักผ่านไร้เครื่องกั้นมากมาย จึงไม่น่าแปลกที่รถไฟไทยช้าเป็นประจำ

5. รถไฟที่ยาวมากๆ
อาจจะดูไม่เกี่ยวเท่าไหร่ แต่พอมานึกดูแล้ว รถไฟโดยสารของญี่ปุ่นส่วนมาก (ไม่นับรถไฟท้องถิ่น) จะมีความยาว 6 ตู้ขึ้นไปทั้งนั้น ด้วยความยาวของรถไฟที่มาก ทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องต่อแถวยาว พอรถไฟเข้าจะไม่เสียเวลาตอนคนค่อยๆเดินเข้าไปในรถ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น